ประวัติสุนทรภู่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์ หรือ เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขว
างสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการ เรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลายๆ ส่วนในเรื่อง พระอภัยมณี
รูปปั้น สุนทรภู่ ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป
ประวัติ ต้นตระกูล
บันทึกส่วนใหญ่มักระบุถึงต้นตระกูลของสุนทรภู่เพียงว่า บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อถือตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ต่อมาในภายหลัง เมื่อมีการค้นพบข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับต้นตระกูลของสุนทรภู่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ฝ่ายบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จริง เนื่องจากมีปรากฏเนื้อความอยู่ใน นิราศเมืองแกลง ถึงวงศ์วานว่านเครือของสุนทรภู่ แต่ความเห็นเกี่ยวกับตระกูลฝ่ายมารดานี้แตกออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งว่าไม่ทราบที่มาแน่ชัด ส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวฉะเชิงเทรา และส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวเมืองเพชร ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นข้าราชการแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชื่อขุนศรีสังหาร (พลับ) ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบทกวีไม่ทราบชื่อผู้แต่งซึ่ง ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ พบที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง ว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย ทว่าแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันค่อนข้างกว้างขวางคือ ตระกูลฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร สืบเนื่องจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร ฉบับค้นพบเพิ่มเติมโดย อ.ล้อม เพ็งแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2529
วัยเยาว์
สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน นี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
เชื่อกันว่า ในวัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏใน นิราศสุพรรณ ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม จากสำนวนกลอนของสุนทรภู่ เชื่อว่าผลงานที่มีการประพันธ์ขึ้นก่อนสุนทรภู่อายุได้ 20 ปี (คือก่อนนิราศเมืองแกลง) เห็นจะได้แก่กลอนนิทานเรื่อง โคบุตร
สุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน "เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย" ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น "พระครูธรรมรังษี" เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา
แต่กลับจากเมืองแกลงเพียงไม่นาน สุนทรภู่ต้องติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย
สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป
หลังจาก นิราศพระบาท ที่สุนทรภู่แต่งในปี พ.ศ. 2350 ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลยจนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359
กวีราชสำนัก
สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก "ช่วงเวลาที่หายไป" ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้
เมื่อแรกสุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่มีเหตุให้ได้แสดงฝีมือกลอนของตัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร การต่อกลอนของสุนทรภู่คราวนี้เป็นที่รู้จักทั่วไป เนื่องจากปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ ฉากบรรยายรถศึกของทศกัณฐ์ สุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นประจำ คอยถวายความเห็น เกี่ยวกับพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่างๆ รวมถึงได้ร่วมในกิจการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง ขุนช้างขุนแผน ขึ้นใหม่
ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบท พระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้